Wednesday, May 11, 2011

หมอลำเมืองอุบล

รรพชนชาวอุบลราชธานี มีการแสดงพื้นบ้านอยู่ 3 ลักษณะ คือ ดนตรี การขับร้อง ฟ้อนรำ และการแสดงโดยใช้หุ่น สำหรับดนตรีในอดีตมีทั้งการบรรเลงล้วนๆ และการบรรเลงประกอบการร้องและการฟ้อนรำ เครื่องดนตรีทั้งหลาย แคน นับว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแคนต้องใช้ประกอบการรำต่างๆ อุบลราชธานีจึงได้ชื่อว่าเป็นถิ่น "ดอกคูณเสียงแคน"
ในระยะต่อมามีการนำโปงลางและไหมาเล่นประกอบในวงดนตรีพื้นบ้าน เรียกว่า วงโปงลาง และนำเครื่องดนตรีสากลมาประกอบการลำและการแสดงอื่นๆ ในปัจจุบันดนตรีและศิลปะการแสดงของจังหวัดอุบลราชธานีอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
  • หมอลำหรือวงหมอลำ (ลำหมู่ - ลำเพลิน - ลำซิ่ง)
  • วงโปงลาง
  • วงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีสากลเล่นประกอบพิณ (เพชรพิณทอง)
ส่วนการแสดงโดยใช้หุ่นซึ่งได้แก่หนังปราโมทัย ในปัจจุบันยังมีการแสดงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก
pหมอลำ

หมอลำหมู่ดั้งเดิม
การลำ นับเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เริ่มจากการลำพื้น ซึ่งได้แก่การนำเนื้อหาของนิทานพื้นบ้าน เช่น การะเกด สินไซร (สังข์ศิลป์ชัย) นางแตงอ่อน มาลำโดยใช้หมอลำ 1 คนและหมอแคน 1 คน ผู้ลำสมมุติตนเป็นตัวละครทุกตัวในเรื่องและลำตลอดคืน การลำพื้นนับเป็นต้นกำเนิดของการลำทุกประเภท
ต่อมาลำพื้นได้วิวัฒนาการมาเป็นการลำคู่ ซึ่งได้แก่การลำ 2 คน ชายกับชาย หรือชายกับหญิง (จนประมาณปี พ.ศ. 2495 การลำระหว่างชายกับชายจึงเลิกไป) หมอลำคู่ยังแตกแขนงออกเป็นลำซิงชู้ ซึ่งประกอบด้วยผู้ลำชาย 2 หญิง 1 หรือหญิง 2 ชาย 1 เพื่อแย่งชิงชายหรือหญิงที่มีอยู่เพียงคนเดียว
หมอลำคู่ที่มีชื่อเสียงชาวอุบลราชธานีมีมากมาย จนเมืองอุบลได้ชื่อว่า เป็น "เมืองหมอลำ" หมอลำที่มีชื่อเสียงในอดีตนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ หมอลำคูณ (ชาย) และหมอลำจอมศรี (หญิง) เป็นหมอลำคู่แรกที่ได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และได้เผยแพร่ออกอากาศจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันหมอลำทั้งคู่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว (ซึ่งเรามีตัวอย่างกลอนลำของท่านทั้งสองที่นี่ Click!)
นายทองมาก จันทะลือ
หมอลำทองมาก จันทะลือ (ชาย) ฉายา หมอลำถูทา เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาประกอบอาชีพเป็นหมอลำ และผู้แต่งกลอนลำจนมีชื่อเสียง ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หมอลำทองมากได้ชื่อว่า เป็นผู้มีปฏิภาณมีไหวพริบในการลำ สามารถลำโต้ตอบแบบกลอนสดชนิด "ลำแตก" จนได้รับยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" เมื่อปี พ.ศ. 2529 นับเป็นหมอลำคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้
เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ปัจจุบันได้ตั้งสมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปพื้นบ้านมารับใช้สังคม
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
หมอลำเคน ดาเหลา (ชาย) ฉายา "เคนฮุด" เป็นชาวอุบลราชธานี ไปมีชื่อเสียงโด่งดังที่จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ฉายาว่า "ฮุด" ก็เพราะว่าในเวลาลำจะสามารถดันไปได้แบบสู้ไม่ถอย หมอลำเคนมีน้ำเสียงห้าว ไพเราะ และรูปร่างหน้าตาดี ทั้งยังสามารถแต่งกลอนลำได้ด้วย ลีลาการฟ้อนรำก็สวยงามเป็นที่ประทับใจ ในปี พ.ศ. 2534 จึงได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" อีกคนหนึ่ง นับเป็นหมอลำคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรติดังกล่าว
ปัจจุบันได้ตั้งโรงเรียนสอนการลำให้กับเยาวชนที่สนใจ อยากจะเป็นศิลปินด้านหมอลำ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอีสานให้ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งแต่งกลอนลำให้กับหมอลำรุ่นใหม่ๆ รวบรวมคณะหมอลำต่างๆ เข้ามาในสังกัดเพื่อช่วยเหลือการรับงานลำทั่วประเทศ
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
นายเคน ดาเหลา
หมอลำฉวีวรรณ พันธุ
นางฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีหมอลำ ที่มีความสามารถโดดเด่น มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดา ญาติ และหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมดลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่ง กลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอนลำ ประดิษฐ์ท่ารำ และบทร้องชุดแม่อีสาน 48 ท่า ประกอบกับบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสาน และได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชนว่าเป็น ราชินีหมอลำ
นางฉวีวรรณ พันธุ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2536
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Veteethai.com
หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย
ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก
Veteethai.com
นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดอุบลราชธานี สนใจฝึกแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กับหมอลำทองมี สายพิณ หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างเฉลียวฉลาด เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว กลอนลำแต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย ทำให้เป็นหมอลำหญิงคนเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวันกลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชานีหมอลำ เคยได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2540
หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข (หญิง) เป็นหมอลำอาวุโสอีกคนหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต เคยชนะการประกวดหมอลำในระดับต่างๆ หลายรางวัลเช่น เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมอลำทั่วประเทศฝ่ายหญิง พ.ศ. 2502 ณ เวทีมวยลุมพินีกรุงเทพฯ หมอลำคำปุ่นเป็นหมอลำสตรีที่สามารถแต่งกลอนลำได้ดี ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยปรากฏตัวแต่ก็ได้แต่งกลอนลำให้ลูกศิษย์อยู่อย่างสม่ำเสมอ
การลำได้วิวัฒนาการต่อไปอีกจากการลำ 2 - 3 คน กลายมาเป็นการลำหลายๆ คน คือ ประมาณ 10 คนขึ้นไป เรียกว่า การลำหมู่ เป็นการลำตามเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้าน หรือนิทานชาดก ผู้แสดงแต่ละคนจะแสดงบทบาทตามตัวละครในท้องเรื่องแตกต่างกันไป ลีลาการลำก็มีหลายแบบ อาทิเช่น ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน เป็นต้น คณะหมอลำหมู่ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดอุบลราชธานี คือ คณะรังสิมันต์
(ระหว่างปี พ.ศ. 2506 - 2510) พระเอกและนางเอกที่มีชื่อเสียงของคณะคือ หมอลำทองคำ เพ็งดี และ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งหมอลำคณะนี้มีการนำเครื่องดนตรีสากลบางชิ้น เช่น กีตาร์ ออร์แกน มาบรรเลงประกอบเพื่อให้เกิดความครึกครื้นยิ่งขึ้น จวบจนปัจจุบันเครื่องดนตรีสากลเหล่านี้ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวง และวงหมอลำหมู่ได้กลายสภาพมาเป็น กึ่งวงดนตรีลูกทุ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนที่จะต้องลำ แคนก็ยังต้องเป่านำ เพื่อให้ได้บรรยากาศของการลำที่แท้จริง
หมอลำทองคำ เพ็งดี มีฉายาว่า นกกาเหว่า เพราะเป็นผู้มีน้ำเสียงไพเราะเป็นหนึ่งในการลำล่องในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแต่งกลอนลำได้อีกด้วย ลำล่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หมอลำทองคำเป็นอย่างมากคือ ลำล่องเรื่องจำปาสี่ต้นส่วนหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นผู้มีน้ำเสียงใสกังวาล จึงมีผู้เปรียบว่า ประดุจเสียงทอง ต่อมาคณะหมอลำรังสิมันต์ได้นางเอกอีกคนหนึ่งคือ หมอลำบานเย็น รากแก่น ซึ่งมีความสวยเป็นที่เลื่องลือ กอร์ปกับลีลาการฟ้อนประกอบการรำของเธอก็มีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม จึงได้รับความนิยมมาก ซึ่งต่อมาได้แยกวงมาตั้งคณะใช้ชื่อของตนเอง
คณะรังสิมันต์ ได้ยุบวงไปเมื่อ พ.ศ. 2512 หมอลำทองคำประกอบอาชีพส่วนตัว และรับงานเป็นครั้งคราว คู่กับหมอลำฉวีวรรณ (ปัจจุบัน หมอลำฉวีวรรณ ได้ไปช่วยถ่ายทอดศิลปแห่งการลำและฟ้อนรำที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด)
หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด หลังจากแยกออกมาจากคณะรังสิมันต์แล้ว ได้ตั้งวงรับงานแสดง มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากมาย ในที่สุดก็ยุบวงไป ปัจจุบันยังประกอบอาชีพด้านนี้อยู่ ณ กรุงเทพมหานคร และได้บันทึกเสียงเพลงลูกทุ่งอีสานออกมาเผยแพร่อีกหลายชุด ได้เสียสละเวลาเดินทางมาให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ที่ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อสืบสานมรดกอีสานอยู่มิได้ขาด
หมอลำสมาน หงษา อดีตเคยเป็นบุรุษไปรษณีย์แต่ได้ลาออกมาประกอบอาชีพหมอลำ เคยประกวดหมอลำได้รับรางวัลชนะเลิศหลายรางวัล หมอลำสมานตั้งคณะของตนเองชื่อว่า คณะเพชรเสียงทอง โดยแสดงในแนวชาดก ตลกสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบัน ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เช่นเรื่อง "แม่เฒ่ามักลูกเขย" ปัจจุบันยังคงรับงานแสดง และดัดแปลงการลำเอาใจตลาด โดยการลำซิ่งบ้างเป็นบางโอกาส
หมอลำคู่ขวัญในอดีตอีกคู่หนึ่งคือ หมอลำป. ฉลาดน้อย (ชาย) และ หมอลำอังคนางค์ คุณไชย (หญิง) ร่วมกันก่อตั้งคณะอุบลพัฒนา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดหมอลำหมู่ ทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2515 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากคือ การบันทึกแผ่นเสียงลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง นกกระยางขาว
ต่อมา หมอลำอังคนางค์ได้อัดแผ่นเสียงเพลงแนวลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมหลายเพลง ได้แก่ สาวอุบลรอรัก พี่จ๋าหลับตาไว้ และอีสานลำเพลิน ต่อมาทั้งคู่แยกวงไปตั้งคณะใหม่ โดยอังคนางค์ตั้งคณะหมอลำชื่อ คณะอุบลพัฒนายุคใหม่ ส่วน ป.ฉลาดน้อย ได้ตั้งคณะเพชรอุบล รับงานการแสดงเรื่อยมา แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมีผลงานร่วมกันเป็นครั้งคราวโดยการนำเอานิทานและนิยายปัจจุบันที่เป็นที่นิยมมาบันทึกเสียงเป็นลำเรื่องต่อกลอน เช่น คู่กรรม แม่เบี้ย เป็นต้น
pวงโปงลาง
วงโปงลาง เป็นวงดนตรีซึ่งใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านบรรเลง เครื่องดนตรีเด่นๆ ได้แก่ โปงลาง แคน พิณ โหวด กลอง ไห เป็นต้น นิยมบรรเลงเพลงลายพื้นบ้าน เช่น ลายนกไซบินข้ามทุ่ง แมงภู่ตอมดอก แม่ฮ้างกล่อมลูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังบรรเลงประกอบการแสดงต่างๆ เช่น ลำตังหวาย และบรรเลงเพลงทั่วไปเช่น เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล
วงโปงลางในจังหวัดอุบลราชธานีมีหลายวง ส่วนใหญ่เป็นวงของโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม และสถาบันการศึกษาอื่น ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ วงโปงลางของวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 โดยภาควิชานาฏศิลป์และภาควิชาดนตรี มีผลงานเผยแพร่ไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งในนามของวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมการฝึกหัดครู ได้รับเชิญให้ไปแสดงในงานสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองและอีสานเทรดแฟร์ทุกปี นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปแสดงต่างประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง
ความโดดเด่นของวงโปงลางคณะนี้ได้แก่ ท่ารำที่สวยงามและหลากหลาย เครื่องแต่งกายที่มีสีสันสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ ได้ฟื้นฟูและประดิษฐ์ท่ารำต่างๆ จากประเพณีและวัฒนธรรมของอีสาน เช่น รำคูณลาน รำดอกบัว เซิ้งขอฝน และการรำที่เป็นเอกลักษณ์ของวงคือ รำตังหวาย ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 วงโปงลางวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องจาก สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลสังข์เงิน นับเป็นวงโปงลางวงแรกที่ได้รับเกียรตินี้
นพดล ดวงพรpวงดนตรีเพชรพิณทอง
นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ นพดล ดวงพร เป็นหัวหน้าวงดนตรีเพชรพิณทอง ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร เป็นลูกศิษย์และเคยร่วมงานในวงดนตรีของครูมงคล อมาตยกุล (วงดนตรีจุฬารัตน์) อยู่หลายปีได้รับประสบการณ์มากมาย ด้วยความที่อยากสร้างเอกลักษณ์ของตนเองและคนอีสานจึงได้แยกตัวออกมาตั้งวงเพชรพิณทอง โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านคือ พิณ มาร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากล จึงได้ชื่อคณะว่า เพชรพิณทอง ซึ่งหมอพิณคู่ใจที่สร้างตำนานมาด้วยกันคือทองใส ทับถนน นอกจากนั้น จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ ทีมพิธีกร ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบด้วย นพดล ดวงพร ลุงแนบ หนิงหน่อง ใหญ่ หน้ายาน และแท็กซี่ เป็นต้น
นอกเหนือจากการร้องเพลงและหางเครื่องอันตระการตาจำนวนมากแล้ว วงเพชรพิณทองยังสามารถออกเทปตลกชุดต่างๆ หลายชุดที่โด่งดังจำหน่ายเช่น หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เกียรติคุณที่ได้รับได้แก่ การมีโอกาสแสดงหน้าพระที่นั่งที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2514 และได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532
นอกจากบุคคลที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหมอลำอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีชีวิตอยู่และได้รับความนิยมทั้งสามารถแต่งกลอนลำได้ อาทิ หมอลำคำเก่ง บัวใหญ่ หมอลำทองลา สายแวว หมอลำทองสุ่น บุญเติม หมอลำบุญมา รักษาศรี หมอลำสุพรรณ ติระนันท์ หมอลำกองมี คำภูทา หมอลำเหล็กกล้า ขันชาลี เป็นต้น ขณะนี้เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้มีประมาณ 300 คน (สำหรับคณะหมอลำหมู่ถือว่า 1 คณะเท่ากับ 1 คน)
ทองใส ทับถนน กับพิณคู่ใจ
ศิลปินพื้นบ้าน พิณแคนแดนอีสาน
ส่วนผู้สร้างผลงานเพลงนอกเหนือจาก เพชรพิณทอง ของนพดล ดวงพร และบานเย็น รากแก่นแล้ว ยังมี เทพพร เพชรอุบล เจ้าของเพลง อีสานบ้านเฮาอันโด่งดัง ไกรสร เรืองศรี สนธิ สมมาตร สลา คุณวุฒิ ต่าย อรทัย เอกพล มนต์ตระการและอีกหลายๆ คน
การที่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างไม่ขาดตอน ทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความนิยมของยุคสมัย แต่เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นหมอลำ วงโปงลางหรือวงดนตรีเพชรพิณทอง ล้วนได้รับความนิยม และกล่าวขวัญถึงในระดับประเทศ และจะยังคงมีวิวัฒนาการสืบไปคู่กับชาวอุบลราชธานี และเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานชั่วนิรันดร์

หมอลำ... ศิลปพื้นบ้านที่ไม่มีวันตายไปจากลมหายใจของชาวอีสาน...
ที่มา : วารสาร "อุบลเมืองนักปราชญ์"
ฉบับปฐมฤกษ์ ธันวาคม 2544

No comments:

Post a Comment